ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องน่าสงสัยเหลือเกินสำหรับกรณี "มาร์ค V11" ที่รับผิดแค่ครึ่งเดียว โดยยอมรับว่าลงมือโพสต์แจกของลับนายกรัฐมนตรีจริง แต่ปัดความผิดว่าไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงด้วยการแจงหลัก ฐานว่าภาพ"สกรีนชอต" หน้าเฟสบุ๊กบนกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปนั้นเป็นภาพตัดด่อ สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าสงสัยคือการตัดต่อที่ดูเหมือน"จงใจ"ทำให้ไม่แนบ เนียน เพื่อให้หนุ่มมาร์คมีบันไดลงอย่างสวยงามสำหรับเรื่องนี้
ต้องยกความดีให้กับความเห็นที่ 33 ในข่าว “มาร์ค” รับผิดถอนตัวออก AF7 ขอโทษด่านายกฯ ยันเปล่าหมิ่นเบื้องสูง แจ้งความแล้วถูกตัดต่อ FB ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตอย่างชาญฉลาด แม้หลายคนอาจงงเล็กน้อย หากไม่ได้เป็นผู้ติดตามข่าวนี้มาตั้งแต่แรก
"ผู้จัดการไซเบอร์" ขออนุญาตเป็นผู้ขยายความเรื่องนี้ให้คนไทยทุกคนฟัง ซึ่งขออภัยหากถอดความหมายของคุณ "พ่อแม้วรังแกฉัน" เจ้าของความเห็นที่ 33 ในข่าวบังเทิง เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
ในข่าวนี้ “มาร์ค V11” หรือวิทวัส ท้าวคำลือ นักล่าฝันจากรายการเรียลิตี้ อคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7 ออกมามายืนยันว่าไม่ได้เป็นคนโพสต์คำว่า "อยากให้ปลดรูปที่มีอยู่ทุกบ้านออก" จนถูกกระแสสังคมโจมตีว่าเป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างแรง โดยยืนยันว่าเฟสบุ๊กของตัวเองถูกมือดีตัดต่อ พร้อมกับสาบานว่าไม่ได้เป็นคนพิมพ์ข้อความดังกล่าว
โดยนายวทัญญู-นางเร็จวรรณา ท้าวคำลือ พ่อแม่ของมาร์คได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่ารูปสกรีนชอตเฟสบุ๊กของมาร์ค V11 ซึ่งถูกนำไปเป็นกระแสวิจารณ์ในกระทู้ออนไลน์ชื่อดังอย่าง pantip.com นั้นเป็นรูปที่ผู้โพสต์ตัดต่อขึ้น พร้อมกับชี้จุดจับผิดซึ่งเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนจนผิดสังเกต
ผิดสังเกตจนทำให้หลายคนรู้สึกได้ว่า การตัดต่อที่เกิดขึ้นอาจเป็นการจัดฉากเพื่อแก้ตัวแทนมาร์ค ให้มาร์คสามารถรับผิดเฉพาะเรื่องด่านายกฯ
"พ่อแม้วรังแกฉัน" อธิบายว่า ความชัดเจนแรกคือการจงใจนำสกรีนชอตเฟสบุ๊กที่มีวันที่เป็นภาษาอังกฤษ มารวมกับสกรีนชอตที่มีวันที่เป็นภาษาไทย ความชัดเจนที่สองคือการเรียงวันที่โพสต์ให้ผิดลำดับ ต่อมาคือขนาดกรอบข้อความที่ไม่เท่ากัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสกรีนชอตที่ชาวออนไลน์หลายคนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน
นี่เองที่ทำให้หลายคนสงสัยว่า ภาพตัดต่อนี้จงใจทิ้งหลักฐานไว้ว่าถูกตัดต่อ ซึ่งทำให้หนุ่มมาร์คพ้นผิดไปได้
ขอย้ำว่านี่เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น เพราะขณะนี้กระทู้ http://www.pantip.com/cafe/chalermkrung/topic/C9448393/C9448393.html#140 ได้ถูกแจ้งลบไปแล้วซึ่งทำให้ผู้ที่มีข้อข้องใจไม่สามารถเข้าไปอ่านราย ละเอียดเพิ่มเติมได้ ขณะเดียวกัน เฟสบุ๊กของมาร์คก็ถูกปิดไปทำให้ไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่า มาร์คเคยตั้งสถานะว่า "เมื่อไหร่จะปลดรูปไปให้หมดทุกบ้าน" จริงหรือไม่ หรือหากเคยตั้งไว้จริงก็สามารถลบได้ตลอดเวลา
ความง่ายดายในการตัดต่อนี้เองที่ทำให้กฏหมายว่าด้วยการกระทำผิดทาง คอมพิวเตอร์ ไม่ถือให้สกรีนชอตเป็นหลักฐานในการชี้มูลความผิด ฉะนั้น สิ่งที่ตำรวจต้องทำคือการค้นหาตัวผู้ตัดต่อ โดยอาจขอความร่วมมือกับพันทิปดอทคอม ซึ่งเมื่อทราบตัวผู้โพสต์ก็จะสามารถสืบสาวราวเรื่องได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม หากมาร์คถูกกลั่นแกล้งด้วยวิธีนี้จริง ก็ต้องยอมรับว่านี่คือเป็นอีกภัยเฟสบุ๊กที่ทุกคนต้องระวังตัว ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นเป้าถูกใส่ร้ายป้ายสีได้อย่างน่าหวาดหวั่น
นอกจากการตัดต่อ อีกภัยร้ายที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กต้องระวังตัวให้มากคือการถูกแฮก ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟสบุ๊กหลายคนทั่วโลกเคยถูกแฮกเพื่อขโมยไอเท็มเกม หรือแอบอ้างโพสต์ข้อความโดยที่เจ้าของชื่อบัญชีไม่ทันรู้ตัว
เรื่องนี้นพชัย ตั้งไตรธรรม ที่ปรึกษาทางเทคนิคอาวุโส บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชัน จำกัด อธิบายว่าการแฮกเฟสบุ๊กนั้นสามารถทำได้จริงโดยการเจาะช่องโหว่ซอฟต์แวร์ เฟสบุ๊ก
"เหตุการณ์เกี่ยวกับการแฮกเฟสบุ๊กเคยเกิดมาแล้วก่อนหน้านี้ และเฟสบุ๊กก็ได้มีการแก้ไปแล้ว ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก หากระบบป้องกันไม่ดีพอ นักเจาะระบบจะสามารถเข้าสู่แอคเคาท์ใดก็ได้โดยไม่ต้องมียูสเซอร์เนม-พาส เวิร์ด"
เหตุการณ์แฮกเฟสบุ๊กนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยสมาชิกเฟสบุ๊กทั้งไทยและเทศจำนวนมากถูกแฮกแอคเคาท์เพื่อขโมยไอเท็มเกม สำหรับเล่นบนเฟสบุ๊กไปเกลี้ยงอย่างน่าเจ็บใจ หลายคนระบุว่าไม่ได้บอกรหัสผ่านแก่ใคร และระวังตัวอย่างดีด้วยการใช้งานเฟสบุ๊กบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านและ สำนักงานโดยไม่เคยบันทึกรหัสผ่าน
กระทั่งปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟสบุ๊กทั่วโลกกว่า 400 ล้านคนถูกแจ้งเตือนให้ระวังตัวเนื่องจากบริษัทแอนตี้ไวรัสหลายแห่งสามารถ ตรวจพบโปรแกรมร้ายที่ถูกออกแบบมาเพื่อการปล้นรหัสผ่านของชาวเฟสบุ๊ก มีการให้ข้อมูลว่าหนึ่งในรูปแบบการแพร่กระจายคือการทำฟิชชิ่ง (Phishing) หรือการสร้างอีเมลปลอมเพื่อตบตาว่าเป็นอีเมล์ประกาศของทีมเฟสบุ๊ก ให้ผู้ใช้คลิกเปิดไฟล์แนบซึ่งมีโปรแกรมตั้งค่ารหัสผ่านใหม่แบบอัตโนมัติฝัง ไว้ภายใน ผลคือไม่เพียงนักแฮกจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลทุกอย่างในเฟสบุ๊ก แต่ข้อมูลทุกอย่างในคอมพิวเตอร์พีซีของผู้ใช้ก็จะตกในความเสี่ยงด้วย
ครั้งนั้นเฟสบุ๊กออกมายืนยันว่า บริษัทไม่มีนโยบายส่งเมล์ให้สมาชิกเปลี่ยนรหัสผ่าน โดยให้ผู้ใช้อย่าวางใจอีเมลที่ใช้ชื่อเรื่องผิดปกติเช่น Dear User of Facebook เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับผู้ที่ถูกแฮกเฟสบุ๊กไปแล้ว คือให้สแกนไวรัสในเครื่องแล้วฆ่าหรือลบทิ้งเสียก่อน จากนั้นให้เปลี่ยนรหัสผ่านอีเมลทุกแห่งที่มี รวมถึงรหัสผ่านสำหรับเข้าสู่บริการออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่างๆ เนื่องจากมีโอกาสสูงมากที่นักแฮกจะสามารถเข้าถึงรหัสผ่านเหล่านี้
สำหรับการป้องกันไม่ ให้ถูกแฮกเฟสบุ๊ก ผู้ใช้เฟสบุ๊กทุกคนควรท่องให้ขึ้นใจว่า การจะโหลดไฟล์ใดจากอินเทอร์เน็ต ควรโหลดจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น หากเป็นไปได้ ไม่ควรโหลดไฟล์จากเว็บไซต์บริการฝากไฟล์ เนื่องจากผู้อัปโหลดไฟล์ไว้สามารถใส่ไวรัสลงในไฟล์ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญถึงภัยจากเฟสบุ๊กที่ผู้ใช้เฟสบุ๊กชาว ไทย 4.2 ล้านคนต้องตระหนักรู้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายใดๆในอนาคต
ขอให้ทุกคนรอดพ้นจากการถูกแฮกและตัดต่อครับ
http://www.squidoo.com/af7
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น